ตลาดฟุตบอลไทย ความต่างชั้นของสโมสรฟุตบอลไทยในระบบลีกอาชีพ

ฟุตบอลคือกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของไทย การเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในประเทศไทยใช้ระยะเวลามาระดับหนึ่งก่อนที่จะเป็นรูปเป็นร่างแบบในปัจุบัน มีหลายสโมสรที่คงอยู่ บางสโมสรก็ต้องล้มหายไปจากสารบบ ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวงการฟุตบอลไทย
ฟุตบอลไทยกว่าจะเปลี่ยนตัวเองจากกึ่งอาชีพมาเป็นมืออาชีพได้
ฟุตบอลลีกอาชีพของไทยเกิดจากการควบรวมสองลีกฟุตบอลในอดีตคือ
รายการที่จัดโดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์กับรายการที่จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย
รายการของสมาคมฟุตบอลฯ นั้นเกิดขึ้นก่อนในปี 2539 โดยมีชื่อรายการที่เปลี่ยนแปลงมาตลอดตั้งแต่ไทยแลนด์ซ้อกเกอร์ลีก
ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ไทยลีก และไทยพรีเมียร์ลีก ก่อนที่สมาคมฟุตบอลฯ
ชุดปัจจุบันจะปรับโครงสร้างใหม่และกลับไปใช้ชื่อ ไทยลีก อีกครั้ง
ฝั่งการกีฬาแห่งประเทศไทยได้จัดรายการฟุตบอลอาชีพอีกหนึ่งรายการเพื่อแก้ปัญหาการกระจุกตัวของรายการฟุตบอลที่จัดโดยสมาคมฯ
ซึ่งแข่งกันอยู่แต่ภายในกรุงเทพมหานคร โดยจัดแข่งขันรายการโปรวินเชี่ยนลีกในปี 2542
เกิดการกระจายทีมเข้าร่วมแข่งขันไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
เข้าสู่ปี 2550 การกีฬาแห่งประเทศไทยผ่านข้อตกลงร่วมกับสมาคมฟุตบอลฯ จึงได้ทำการยุบรายการโปรวินเชี่ยนลีก แบ่งสโมสรจังหวัดต่าง ๆ เข้าไปอยู่ในรายการไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก และไทยลีกดิวิชั่น 1 จนกลายมาเป็นลีกอาชีพระบบเดียวของไทยในทุกวันนี้
ลีกอาชีพแต่ขาดความเป็นมืออาชีพ
ฟุตบอลลีกอาชีพของไทยค่อย ๆ เติบโตขึ้นอย่างทุลักทุเล
เพราะแต่ละสโมสรต่างประสบปัญหาในการสร้างรายได้ จนมีคำพูดว่าทำฟุตบอลไม่ได้กำไร
เพราะสโมสรต่าง ๆ ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการผลักดันตัวเองไปสู่ความเป็นมืออาชีพ
ยังมีการบริหารงานแบบเก่าที่ยึดติดกับเงินสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลฯ
ขาดการบริหารเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้ฟุตบอลลีกอาชีพของไทยเกิดภาวะบูมบ้าง
ซบเซาบ้างสลับกันไป
แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวหลายสโมสรก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่แนวทางความเป็นสโมสรมืออาชีพบ้างแล้ว เช่น สโมสรชลบุรี เอฟซีที่บริหารจัดการแบบมืออาชีพทั้งสโมสรและกองเชียร์ พวกเขาเป็นโมเดลสโมสฟุตบอลมืออาชีพสโมสรแรกของไทย ต่อมาก็มีอีกหนึ่งสโมสรที่จัดการอย่างมืออาชีพและประสบผลสำเร็จอย่างโดดเด่น สโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ดไต่เต้ามาจากลีกระดับล่าง ได้รับการสนับสนุนเรื่องแนวทางจากสื่อกีฬาอันดับหนึ่งของประเทศซึ่งคลุกคลีกับสโมสรฟุตบอลอาชีพในต่างประเทศมาก จนกระทั่งการมาถึงของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ เมื่อนักการเมืองผู้มีบทบาทสำคัญของจังหวัดต้องการสร้างสโมสรที่กลายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งมันเป็นจังหวะสอดคล้องกับการที่สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี เริ่มใช้กฎเหล็กเรื่องคลับไลเซนซิ่ง ทำให้หลายสโมสรเกิดการลงทุนแบบมืออาชีพมากขึ้นเพื่อให้ผ่านเกณฑ์การพิจารณา
ผลตอบแทนการลงทุน ความแตกต่างที่เกิดจากวิสัยทัศน์
ที่บุรีรัมย์
สโมสรฟุตบอลกลายเป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของคนในจังหวัด การลงทุนอย่างเอาจริงเอาจังของประธานสโมสรฟุตบอลที่หันหลังให้การเมืองมาทุ่มเทกับกีฬาเต็มที่สร้างดอกผลแห่งความสำเร็จต่อเนื่องหลายปี
ไม่เพียงแค่ชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นจากการประสบความสำเร็จ
แต่เรื่องของรายได้ที่ย้อนกลับมาสู่สโมสรและจังหวัดอีกจำนวนมาก
สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์สามารถต่อรองในการได้รับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ปีละหลายร้อยล้านบาท
เม็ดเงินเหล่านี้เมื่อรวมกับการทำตลาดสินค้าที่ระลึก บัตรเข้าชมการแข่งขัน
ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด บุรีรัมย์เป็นสโมสรที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเกมในบ้านราว 1 ล้านบาท แตกต่างจากสโมสรอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับหลักแสนเท่านั้น
บุรีรัมย์กลายเป็นโมเดลใหม่ของการบริหารจัดการสโมสรฟุตบอลในประเทศไทย และเป็นโมเดลสำหรับการทำสโมสรฟุตบอลในภูมิภาคอาเซียนด้วย หลายสโมสรนำแนวทางของบุรีรัมย์ไปปรับใช้ตามศักยภาพ และเริ่มเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างแต่ละสโมสรมากขึ้นจากขนาดการลงทุนของเจ้าของสโมสร
สโมสรฟุตบอลอาชีพในประเทศไทยแต่ละสโมสรมีความเป็นมืออาชีพมากหรือน้อย ไม่ได้วัดกันที่ใครประสบความสำเร็จได้แชมป์หรือถ้วยรางวัลมากกว่ากัน แต่ต้องพิจารณาถึงการบริหารจัดการทั้งบุคลากรและทรัพยากรที่มี ผลกำไรจากการหารายได้เข้าสโมสรกับรายจ่ายประจำปี หากทำให้มีกำไรได้ แม้จะเป็นสโมสรเล็ก ๆ ก็สามารถยืนหยัดในระบบฟุตบอลลีกไทยได้แน่นอน