นักเตะไทยกับโควต้าเจ ลีกพาร์ทเนอร์ ดาวเด่นของปี 2018

ฟุตบอลเจลีกฤดูกาล 2018 เพิ่งจบลงไปพร้อมการเริ่มทดลองใช้เงื่อนไขพิเศษ นั่นคือโควต้านักเตะจากชาติที่เป็นพาร์ทเนอร์กับเจลีก ซึ่งมีด้วยกัน 9 ชาติ ผลปรากฏว่านักเตะไทยทำผลงานได้น่าประทับใจที่สุด

นักเตะไทยเหนือสุดในโควต้าพาร์ทเนอร์จากทั้ง 9 ชาติ

มันเป็นความพยายามในการบูมกระแสความนิยมในฟุตบอลเจลีกต่อชาติร่วมทวีปมากขึ้น ดังนั้นทางฝ่ายจัดการแข่งขันจึงเลือกเสี่ยงด้วยการเปิดโควต้าใหม่ ให้นักเตะจากประเทศที่เป็นพันธมิตรรวม 9 ชาติ ได้แก่ ไทย เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อิหร่านและการ์ต้า ให้สามารถลงเล่นได้เสมือนเป็นหนึ่งผู้เล่นชาวญี่ปุ่น

จากเดิมที่แต่ละสโมสรมีสิทธิ์ส่งรายชื่อผู้เล่นต่างชาติได้มากสุดเพียง 5 ราย และสามารถส่งลงสนามได้ภายใต้กฏ 3+1 ทำให้พวกเขามีทางเลือกมากขึ้นในการดึงผู้เล่นที่คิดว่ามีฝีเท้าดีพอเล่นเจลีกได้ และน่าจะมีประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์สโมสร

สโมสรญี่ปุ่นได้เห็นผลงานและฝีเท้าของเจ ชนาธิป สรงกระสินธุ์ในการลงเล่นให้คอนซาโดเล่ ซัปโปโร่ รวมไปถึงการเล่นของจักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ในชุด U-23 ของเอฟซี โตเกียว ทำให้เกิดความสนใจในฝีเท้านักเตะไทย นำไปสู่การยืมตัวผู้เล่นอีก 3 ราย ธีรศิลป์ แดงดาสู่ทีมซานเฟรซเซ่ ฮิโรชิม่า, ธีราธร บุญมาทันที่วิสเซิ่ล โกเบและเชาวัฒน์ วีระชาติที่ไปบ่มประสบการณ์กับเซโรโซ่ โอซาก้าที่เป็นพันธมิตรกับสโมสรต้นสังกัดในเมืองไทย ส่งผลให้ฤดูกาลที่ผ่านมามีนักเตะไทยสามารถเล่นในเจลีกได้ถึง 5 ราย แม้จักรกฤษณ์และเชาวัฒน์จะไม่ถูกเรียกขึ้นชุดใหญ่ก็ตาม

เหลือบมองประเทศร่วมโควต้ามีเพียงเจฟเฟอร์สัน ตาบินาสของคาวาซากิ ฟรอนตาเล่นรายเดียวที่ถูกเซ็นสัญญามาร่วมทัพตั้งแต่ต้นฤดูกาล กับอาเหม็ด ยาสเซอร์ของการ์ต้าที่ได้มาเล่นในช่วงตลาดรอบสอง

ผลงานดีความนิยมเพิ่ม

นักเตะไทยทั้ง 3 รายไม่ว่าจะเป็นชนาธิป, ธีรศิลป์ และธีราทร หลังปรับตัวเข้ากับฟุตบอลเจลีกได้ พวกเขาก็แสดงผลงานของตัวเองออกมามากบ้างน้อยบ้างตามโอกาส พร้อมกันนั้นก็ได้แสดงตนอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนในการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ทำให้เป็นที่รักของชาวเมืองเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ขณะที่สโมสรก็รู้สึกประทับใจจากจำนวนแฟนบอลไทยที่จับต้องได้ด้วยสายตาในยามที่ทีมแข่งขัน เมื่อนักท่องเที่ยวไทยที่นิยมเดินทางไปญี่ปุ่นกันอยู่แล้ว ได้เพิ่มโปรแกรมไฮไลต์ของทริป ด้วยการเข้าไปเชียร์นักเตะไทยอีกหนึ่งรายการ หรือแม้กระทั่งที่เจตนาเดินทางไปเชียร์เป็นเป้าหมายหลัก และได้เที่ยวญี่ปุ่นด้วยเป็นของแถมก็เพิ่มมากขึ้น

การยอมรับและอนาคตของชาวชาติพาร์ทเนอร์ในเจลีก

ด้วยความสำเร็จอย่างเป็นชิ้นเป็นอันของทั้ง ชนาธิป, ธีรศิลป์ และธีราทร ได้เปิดมุมมองใหม่สโมสรในเจลีกที่มีต่อฝีเท้าของนักเตะในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะนักเตะไทย นั่นเพราะก่อนหน้านี้บรรดาแข้งจากอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือสิงคโปร์ ที่เคยไปเปิดตลาดก่อนหน้านักเตะไทยต่างประสบความล้มเหลวกันถ้วนหน้า ประกอบกับการที่ผู้เล่นไทยทั้งหมดส่งตรงไปจากทีมชั้นนำของฟุตบอลไทยลีก ทำให้ภาพลบที่มองว่านักเตะจากภูมิภาคนี้ด้อยทั้งเรื่องฝีเท้าและความเป็นมืออาชีพหายไป สิ่งนี้ไม่เพียงยกระดับคุณภาพนักเตะไทยเท่านั้น แต่มันช่วยยกระดับฟุตบอลไทยลีกให้ดูดีขึ้นด้วย

การที่ฟุตบอลในญี่ปุ่นยังแข่งขันไม่จบโดยสมบูรณ์ ทำให้การมองหาผู้เล่นจากประเทศไทยหรือประเทศร่วมโควต้าพาร์ทเนอร์ยังไม่ถูกพูดถึงนัก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะต่อยอดความสัมพันธ์ อาจจะในเชิงเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรและดึงผู้เล่นดาวรุ่งบางรายไปทดสอบ เหมือนที่จักรกฤษณ์และเชาวัฒน์ได้มีโอกาสมาแล้ว นอกจากนี้ยังอาศัยใช้เวทีไทยลีกเป็นเครื่องมือวัดศักยภาพนักเตะชาติอื่น ๆ เช่น ออง ธู ดาวเตะเมียนมาร์ที่ทำผลงานได้ดีก็มีชื่อในข่ายถูกจับตามอง

เมื่อเวทีการแข่งขันฟุตบอลอาชีพถูกยอมรับโดยสโมสรญี่ปุ่น นักเตะจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากก็พบว่ามันเป็นช่องทางที่เป็นไปได้ในการใช้สังเวียนบอลไทยเป็นสะพานเชื่อมไปยังเจลีก ยิ่งเมื่อบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกเปิดโควต้านักเตะอาเเซียนเต้มตัว พวกเขาก็พร้อมที่จะมาพิสูจน์ตัวเอง รับรายได้ที่สูงกว่า และฝันถึงปลายทางที่ไกลกว่า นั่นไม่เพียงไทยลีกจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดโดยสโมสรของญี่ปุ่นแล้ว สโมสรในเกาหลีใต้ก็เห็นโมเดลเดียวกัน และเริ่มถูกพูดถึงในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันแฟนบอลเพื่อนบ้านก็พร้อมที่จะติดตามเชียร์นักเตะของพวกเขาที่มาเล่นในลีกฟุตบอลไทย สุดท้ายวงการบอลไทยได้อานิสงส์เต็ม ๆ จากความสำเร็จของนักเตะไทยในเจลีกปีนี้