ฟุตบอลไทยได้อะไรจากโควตาอาเซียน

การทำตลาดฟุตบอลด้วยการดึงผู้เล่นจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการฟุตบอลไทย หลาย ๆ ทีมพยายามที่จะนำนักเตะชื่อชั้นดี ๆ จากชาติเพื่อนบ้านมาร่วมทัพโดยหวังจะช่วยปลุกกระแสแฟนบอลให้มากขึ้น จนกระทั่งบริษัทไทยลีกโยนกติกาข้อใหม่ลงมาให้ทุกทีมสามารถเซ็นนักเตะจากชาติในอาเซียนได้ไม่จำกัดจำนวน และสามารถลงเล่นได้เหมือนผู้เล่นชาวไทย ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในฟุตบอลลีกของไทย

โควตาอาเซียนแบบเดิม ๆ กับแนวทางสู่ศูนย์กลางฟุตบอลของภูมิภาค

นักเตะอาเซียนฝีเท้าดีมากมายที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เล่นระดับดาราของประเทศนั้น แต่ปัญหาคือฝีเท้าของพวกเขาเมื่อมาเล่นฟุตบอลไทยต่างอยู่ภายใต้โควตาผู้เล่นต่างชาติที่เป็นชาวเอเชีย ทำให้สโมสรในไทยมองว่า การเอาโควตานักเตะเอเชียมาให้นักฟุตบอลจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นการเสียโอกาส​ เพราะสิทธิ์เดียวกันนี้ไปนำผู้เล่นจากญี่ปุ่น เกาหลี หรือตะวันออกกลางมาใช้ยังดีกว่า ทีมที่เลือกใช้นักเตะจากอาเซียนซึ่งที่ผ่านมามีให้เพียง 1 โควตาจึงเป็นสโมสรขนาดเล็กเท่านั้น

การปรับกติกาใหม่ให้สามารถเซ็นนักเตะอาเซียนได้ไม่จำกัด สามารถส่งลงสนามได้ 3 คนพร้อมกัน ทำให้สโมสรฟุตบอลต่าง ๆ เปลี่ยนมุมมองใหม่ ผู้เล่นชั้นดีจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์และเมียนมาร์ถูกนำเสนอมาสู่แต่ละสโมสร รวมไปถึงหลายสโมสรก็ไปทาบทามผู้เล่นอันดับหนึ่งของประเทศเหล่านั้นด้วย วงการฟุตบอลในอาเซียนจึงเกิดความตื่นตัวยกใหญ่

หนึ่งเหตุผลที่นักเตะชาติอาเซียนกล้าที่จะย้ายมาลองพิสูจน์ฝีเท้าในประเทศไทยเกิดจากมาตรฐานการแข่งขัน คุณภาพในการแข่งขันแบบมืออาชีพที่สูงกว่า ทำให้พวกเขาสามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ และผู้เล่นหลายคนก็เชื่อว่าตัวเองสามารถเล่นไทยลีกให้ประสบความสำเร็จได้เหมือนที่อ่อง ทู กองหน้าของโปลิศ เทโรทำผลงานไว้ในปีแรกของเจ้าตัว จนได้ย้ายไปอยู่กับสโมสรที่ใหญ่ขึ้นอย่างเมืองทอง ยูไนเต็ด

อีกหนึ่งเหตุผลคือการที่นักเตะจากไทยลีกได้รับการจับตามองจากสโมสรชั้นนำในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มากขึ้น หากพวกเขาสามารถทำผลงานได้ดีในลีกที่ถูกมองว่ามีมาตรฐานความยากกว่าในประเทศตนเอง ก็อาจจะมีก้าวต่อไปที่จะไปเล่นเจลีกหรือเคลีกในอนาคตได้

สโมสรไทยได้อะไรจากโควตาอาเซียนบ้าง?

เดิมทีมีความกังวลใจว่าผู้เล่นสัญชาติไทยจะสูญเสียโอกาสในการลงสนาม ทำให้นักเตะดาวรุ่งของไทยไม่มีโอกาสแจ้งเกิด แต่ดูเหมือนว่าความกังวลนี้จะถูกตอบด้วยผลงานของเยาวชนจากอะคาเดมี่ของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดที่ทำให้เห็นว่า ถ้าดาวรุ่งคนนั้นเก่งจริง เขาก็ต้องสามารถเบียดขึ้นมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญของทีมจนได้เหมือนที่ศุภชัย ใจเด็ด, ศุภโชค สารชาติ, ศศลักษณ์ ไหประโคน เบียดผู้เล่นรุ่นพี่ให้ไปเป็นม้านั่งสำรองได้

ในแง่ของความตื่นตัวจากแฟนบอลประเทศเพื่อนบ้าน หากมองย้อนไปถึงความพยายามในการเปิดตลาดแฟนบอลย่านอาเซียน ช่วงสองสามปีมานี้ สโมสรไทยและบรรยากาศของการแข่งขันไทยลีกสามารถที่จะเข้าถึงแฟนบอลของประเทศต่าง ๆ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ หลายสโมสรได้แฟนคลับที่เป็นชาวอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันด้วย หลายสโมสรเลือกที่จะมาเก็บตัว อุ่นเครื่องและเรียนรู้วิธีทำฟุตบอลแบบมืออาชีพจากประเทศไทย ซึ่งตรงจัดนี้ก็ยิ่งช่วยประชาสัมพันธ์มาตรฐานของฟุตบอลไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นไปพร้อมกัน

                ยิ่งในปี 2019 ที่ฟุตบอลลีกอาชีพไทยสร้างกติกาใหม่เรื่องการลงทะเบียนผู้เล่น สโมสรหลายสโมสรไม่เพียงแต่ให้ความสนใจในการดึงตัวนักเตะเก่ง ๆ ของเพื่อนบ้านมาสู่ทีม หากแต่ยังขยายไปถึงการควานหานักเตะเยาวชนชั้นดีที่มีโอกาสพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น หากว่าได้มาอยู่อะคาเดมี่ที่มีมาตฐานกว่าการเล่นในระดับเยาวชนในบ้านเกิด

นอกจากนี้การเปิดตลาดฟุตบอลไทยไปยังชาติอาเซียน ยังทำให้บรรดาสปอนเซอร์และเจ้าของทีมได้โอกาสในการประชาสัมพันธ์หรือต่อยอดธุรกิจด้วย เหมือนอย่างเช่นสปอนเซอร์หลักของเมืองทอง ยูไนเต็ดที่ลงทุนธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม ก็ใช้โอกาสในการดึงผู้เล่นทีมชาติมาสร้างกระแสความรู้จักในหมู่แฟนบอลมากขึ้น เพราะเป็นที่รับรู้กันดีว่าชาวเวียดนามนั้นคลั่งไคล้ฟุตบอลมากขนาดไหน

โควตาอาเซียนถือเป็นอาวุธเด็ดในการนำฟุตบอลลีกอาชีพของไทยให้เข้าถึงแฟนบอลเพื่อนบ้านได้มากขึ้น และด้วยปริมาณนักเตะชาติอาเซียนที่เข้ามาสู่ไทยลีกในปีนี้ก็ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางฟุตบอลของอาเซียนจริง ๆ แม้จะมีคู่แข่งอย่างมาเลเซียที่พยายามขอท้าทายการเป็นลีกสำคัญในภูมิภาคนี้แข่งกับไทยก็ตาม