สโมสรไทยกับภาพใหม่เพราะคลับ ไลเซนซิ่ง

ตอนปี 2555 ที่เอเอฟซีบังคับให้สโมสรฟุตบอลทั่วภูมิภาคปรับตัวเองเข้าสู่ระบบ โดยเอาหลักเกณฑ์เรื่องคลับไลเซนซิ่งมาใช้ ประเทศที่มีการทำทีมฟุตบอลแบบลูกทุ่งตามสะดวกอย่างประเทศไทยถึงกลับนั่งไม่ติด เพราะนอกจากจะโดนตัดสิทธิ์โควต้ารายการแข่งขันระดับทวีปแล้ว เรื่องใหญ่ที่สุดคือทุกคนต่างไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แม้กระทั่งสมาคมฟุตบอลในยุคนั้นยังไม่รู้เลยว่าต้องทำอย่างไร

ก้าวที่ถูกบังคับ

กลุ่มก้อนสโมสรแรกที่โดนผลกระทบทันทีคือ 36 ทีมไทยลีกและดิวิชั่น 1 ในยุคที่บริษัทไทยพรีเมียร์ลีกดูแลโดย ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ซึ่งทางบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกและสมาคมฟุตบอลในยุคของคุณวรวีร์ มะกรูดีก็พยายามช่วยมากที่สุดเท่าที่คิดออก แต่ตอนนั้นประเทศในเอเชียที่มีการจัดการเรื่องคลับไลเซนซิ่งจนประสลผลสำเร็จก็มีแค่ไม่กี่ประเทศ ส่วนชาติที่เหลือได้แต่มองหน้ากันตาปริบ ๆ

ทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเลยส่งจดหมายไปขอรายละเอียดกลับมา เพื่อแจกจ่ายให้แต่ละทีมสมาชิกได้ทำการเช็คลิสต์ตัวเองแล้วปรับแก้ หรือหาคนทำงานในแต่ละตำแหน่งให้ตรงคุณสมบัติไป

หลักการอะลุ่มอะล่วยช่วยให้ไทยลีกยังเดินไปได้

รายละเอียดปลีกย่อย 40-50 ข้อ แถมต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุนปรับเปลี่ยนทั้งหมด นำไปสู่ข้อต่อรองเรื่องความเข้มงวดในการทำคลับไลเซ่นซิ่ง และยกแรกของการตรวจมาตรฐานโดยเจ้าหน้าที่ของเอเอฟซี ผลปรากฏว่ามีเพียง 4-5 สโมสรที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งทีมเหล่านั้นต่างปรับเปลี่ยนรูปแบบตัวเองโดยตั้งเป้าเป็นแชมป์เพื่อคว้าสิทธิ์ 1+1 ในการเข้าร่วมรายการระดับเอเชีย

ที่สุดท้ายแล้วทั้งบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกและสมาคมฟุตบอลฯ ก็ต้องยอมอนุโลมสโมสรอื่นให้ทำการแข่งขันลีกไทยได้ แต่ก็บังคับว่าห้ามวางมือจากการแก้ไขให้ผ่านคลับไลเซนซิ่งทุกประการ

ไลเซนซิ่งครอบคลุมครบทุกระดับฟุตบอลไทย

ฤดูกาล 2014/2015 เป็นปีแรกที่การบังคับเรื่องคลับไลเซนซิ่งครทุกทีมในไทยลีก ตามด้วยฤดูกาล 2016/2017 ที่ทีมระดับดิวิชั่น 1 เดิมหรือไทยลีก 2 ต้องผ่านคมาตรฐานนี้เท่านั้นจึงมีสิทธิ์ลงแข่งขัน ทำให้นครปฐมกับสมุทรสงครามต้องตกชั้นเพราะทำไม่ได้ และฤดูาลล่าสุดที่แม้แต่ในระดับไทยลีก 3 และ ก็ถูกบังคับให้เริ่มเดินเข้าตามเกณฑ์เช่นเดียวกัน

ดอกผลของคลับไลเซนซิ่งกับวงการฟุตบอลไทย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเพราะการบังคับใช้คลับไลเซนซิ่งอย่างเข้มงวดนี่เอง ที่ทำให้ลีกฟุตบอลไทยมีการปรับตัวอย่างหนัก ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำฟุตบอลแบบขอไปทีเหมือนสมัยเก่า ที่บางทีมก็มีไว้เพียงแค่รักษาสถานภาพสมาชิกของสมาคม มันกลายเป็นการลงทุนที่จับต้องได้อย่างชัดเจน อย่างในมุมของสนามแข่งขัน การที่ทีมอย่างราชบุรี ชัยนาท เชียงราย หรือสุโขทัย พากันกล้าลงเม็ดเงินเพื่อเนรมิตสนามแข่งขันที่เอเอฟซีเซ็นอนุมัติผ่าน หากได้โอกาสเข้าไปแข่งในเวทีระดับทวีป

หรือจะเป็นเรื่องราวในส่วนของอะคาเดมี่สโมสร ที่เริ่มต้นจากการต้องมีตามกำหนดของการขอไลเซนซิ่ง ตอนนี้ก็กลายเป็นจุดฟูมฟักบรรดานักเตะรุ่นเยาว์หลากรุ่นอายุ หลายคนก้าวขึ้นมาจนถึงระดับติดทีมชุดใหญ่และทีมชาติไทยอย่างน่าทึ่ง เป็นก้าวกระโดดที่มองย้อนไปแค่ไม่ถึง 10 ปีของวงการฟุตบอลไทย ใครๆ ก็คงนึกไม่ถึงว่าจะออกมาเป็นแบบนี้ได้

ตอนนี้คลับไลเซนซิ่งไม่ใช่ของใหม่สำหรับฟุตบอลไทยอีกแล้ว แม้จะยังทำได้ไม่ครบถ้วนทุกสโมสร แต่จากวันที่เคยทำได้แค่สโมสรส่วนน้อย นับถึงตอนนี้ที่ครอบคลุมสโมสรส่วนใหญ่ แค่นี้ก็รู้แล้วว่าคลับไลเซนซิ่งผลักดันฟุตบอลไทยอย่างไร