VAR การตัดสินฟุตบอลที่ยังไม่ถึงจุดสมบูรณ์แบบ

ฟุตบอลกับการตัดสินที่ผิดพลาดถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันมานาน โดยมีความพยายามที่จะหาทางที่ทำให้การตัดสินของกรรมการเกิดความยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกระทั่งการมาของเทคโนโลยีวิดีโอช่วยตัดสิน หรือ VAR (Video Assistant Referee) ที่ก็ต้องใช้เวลาอยู่นานก่อนที่ฟีฟ่าจะยอมรับ และเริ่มต้นใช้งานจริงจังในฟุตบอลโลก 2018 ที่ผ่านมา

ฟุตบอลโลก 2018 การเปิดตัวแบบยังมีแผลของ VAR

ในฟุตบอลโลกที่รัสเซีย ถูกวางรูปแบบเอาไว้ว่าจะมีการใช้เทคโนโลยี VAR เข้าช่วย เพื่อให้เกมการแข่งขันออกมายุติธรรมที่สุด เพื่อลดความคลุมเครือและประเด็นดราม่าที่จะเกิดขึ้น โดยในสองวันแรกของการแข่งขัน VAR ยังไม่ถูกนำมาใช้ จนกระทั่งวันที่ 3 ซึ่งเป็นการแข่งขันของกลุ่ม บี ในเกมฝรั่งเศสพบออสเตรเลีย ผู้ตัดสินในสนามที่ชื่ออันเดรส คุนญา ชาวอุรุกวัยได้รับสัญญาณให้ใช้ VAR หลังจากที่ตัดสินจังหวะเข้าบอลของจอช ริสดอน ผู้เล่นออสเตรเลียและอองตวน กรีซมันน์ กองหน้าฝรั่งเศส

จังหวะแรกคุนญาเลือกที่จะผายมือให้เกมดำเนินไปและเรียกให้กรีซมันน์ลุกขึ้นมาเล่นต่อ ก่อนจะเปลี่ยนใจมาขอผลตัดสินจาก VAR และนำมาซึ่งจุดโทษของฝรั่งเศส แม้ว่าในภาพรีเพลย์จะชัดเจนว่าผู้เล่นออสเตรเลียจะถึงบอลก่อน และกรีซมันน์ก็มาโดนขาของริสดอนหลังจากนั้น

ขณะที่เกมอื่นที่เป็นจุดด่างของการตัดสินในฟุตบอลโลก 2018 ก็อย่างเช่นในเกมระหว่างอาร์เจนติน่ากับไอซ์แลนด์ ผู้ตัดสินชาวโปแลนด์ ซิม่อน มาร์ซิเนียคเลือกตัดสินใจให้และไม่ให้จุดโทษแก่อาร์เจนติน่าใน 2 จังหวะที่ถูกมองว่าผิดพลาด และที่สำคัญคือเขาไม่ได้ร้องขอดู VAR เพื่อช่วยตัดสินด้วยซ้ำ

หลังจบฟุตบอลโลก 2018 ก็มีการสรุปออกมาว่า การใช้ VAR ยังคงมีความผิดพลาดอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ของการประสานงานกันระหว่างผู้ตัดสินในสนามและผู้ควบคุมที่อยู่ในห้องบัญชาการ

ไทยลีกกับ VAR ก้าวที่ยังต้องเดินต่อไปของฟุตบอลไทย

VAR ถูกนำมาทดลองใช้งานเป็นบางคู่ตั้งแต่ปีที่แล้วในการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 1 และไทยลีก 2 ในบางคู่ โดยใช้ระบบยกทีมงานไปทำงานที่สนาม และนำขึ้นจอที่ข้างสนาม ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความที่เป็นการทำงานในปีแรก ทำให้มีจุดผิดพลาดมากมาย พอมาปีนี้ทางบริษัทไทยลีกและสมาคมฟุตบอลก็ประกาศว่าจะยังคงใช้ VAR เข้าช่วยตัดสิน หากแต่ว่าเป็นระบบเดียวกันกับของฟุตบอลโลกคือ จังหวะต่าง ๆ จะถูกส่งไปยังห้องควบคุมกลาง จากนั้นผู้ช่วยตัดสินที่ห้องควบคุมจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลเหตุการณ์ ส่งสัญญาณกลับไปยังผู้ตัดสินที่สนามเพื่อแสดงผลการตัดสินสุดท้าย

มันเป็นอีกก้าวของฟุตบอลไทยในการลองผิดลองถูกเกี่ยวกับการหาการตัดสินที่มีความเที่ยงตรงที่สุดให้กับวงการฟุตบอลไทย ถึงอย่างนั้นจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นจากฟุตบอลโลก 2018 ก็ไม่ใช่เรื่องที่แก้ไขได้ง่าย ๆ

หลังจากผ่านการแข่งขันนัดแรกด้วยการใช้ VAR ระบบที่แตกต่างจากฤดูกาลที่ผ่านมา ผู้ตัดสินไม่สามารถเห็นภาพรีเพลย์จากจอที่ข้างสนามแล้ว และหลายเสียงก็เรียกร้องให้กลับไปใช้รู้แบบเก่า ถึงอย่างนั้นโดยการตัดสินใจของสมาคมฟุตบอลและบริษัทไทยลีกก็ต้องยืนยันตามความตกลงเดิมคือใช้วิธีการนี้ไปก่อน พร้อมทำรายงานถึงฟีฟ่าและคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศถึงข้อดี ข้อเสีย ความเสถียรในการใช้งาน เพื่อรอการอนุมัติใช้ระบบอย่างเป็นทางการ

หากว่าปัญหาที่มีการถกเถียงตั้งแต่สัปดาห์แรกยังคงมีอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายนัด ก็เป็นไปได้ที่ VAR จะยังไม่ถูกอนุมัติให้ใช้จนกว่าจะหาทางแก้ไขข้อบกพร่องได้

อะไรที่ขาดหายไปของเทคโนโลยี VAR ที่ต้องรีบแก้ไข?

                ช่วงหลังฟุตบอลโลก 2018 แกรี่ เนวิลล์ อดีตกองหลังของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่ผันตัวเองมาเป็นผู้บรรยายและผู้วิเคราะห์เกมในสถานีโทรทัศน์มองว่า สิ่งที่ขาดหายไปจากเทคโนโลยี VAR คือผู้ตัดสิน VAR ยังขาดทักษะในการตัดสินใจจากมุมกล้องต่าง ๆ ในจังหวะต้นเหตุซึ่งมีมากมายหลายมุม โดยบางสนามมีมุมกล้องให้มากเกิน 20 มุมด้วยซ้ำ ดังนั้นผู้ตัดสิน VAR จะต้องมีความสามารถในการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้นจากการดูจอย่อยพร้อม ๆ กันหลายจอ

                เนวิลล์เสนอแนะว่าจะต้องมี Match Director ที่มีความสามารถในการเลือกมุมกล้องที่จะนำมาพิจารณาว่าจังหวะนั้น ๆ ควรติดสินอย่างไร ซึ่งมันต่างไปจากการทำหน้าที่ในสนามที่ผู้ติดสินอยู่ในมุมเดียวที่เห็น แต่ Match Director เห็นพร้อมกันนับสิบจอ และเขาต้องเลือกในเวลาอันสั้นที่สุดว่าจะใช้จอไหน

เทคโนโลยี VAR ยังถือเป็นของใหม่สำหรับโลกฟุตบอล ดังนั้นที่เมืองไทยมันก็ยิ่งเป็นของใหม่ยิ่งกว่า การจะตัดสินว่าจังหวะฟาวล์ดังกล่าวใครควรได้ประโยชน์ต้องใช้ผู้ตัดสินที่มีประสบการณ์และความชำนาญ แต่ปัญหาสำคัญขณะนี้ของไทยลีกอยู่ที่ จำนวนผู้ตัดสินในสนามของไทยลีกเองในตอนนี้ก็แทบจะมีไม่พอแล้ว ผู้ตัดสินที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน VAR ก็ยังขาดแคลน เวลาสำหรับการใช้ VAR เต็มรูปแบบของไทยลีกยังมาไม่ถึงในเร็ววันนี้แน่นอน